การประเมินหลักสูตร หมายถึง กระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตร รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้หลักสูตรในอนาคต แนวคิดในการประเมินหลักสูตรประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้
- การประเมินเป็นการประเมินค่าของเรื่องที่ตัดสินใจ
- การตัดสินใจมีเกณฑ์ที่ชัดเจน
- เกณฑ์การตัดสินใจมีประเด็นที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับเนื้อหา
- เกณฑ์แสดงให้เห็นด้วยบุคคลและสอดคล้องกับแนวคิดของแบบจำลองเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ
แนวคิดการประเมินหลักสูตร
การประเมินตามจุดประสงค์ (Goal-based) เป็นการตัดสินใจตามจุดประสงค์ของการศึกษาหรือโปรแกรมการฝึกอบรม
การประเมินที่ไม่ยึดจุดประสงค์ (Goal-free) การตัดสินใจที่มีความเป็นอิสระจากผลที่เกิดจากโอกาสทางการศึกษาหรือโปรแกรม
การประเมินตามหน้าที่ (Responsive) (contingency-unfourseen event) เป็นการเปรียบเทียบความมุ่งมั่นในการสอนและผลที่เกิดขึ้นจริงที่สังเกตได้
การประเมินที่มุ่งการตัดสินใจ (The decision-making) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาหรือโปรแกรมการฝึกอบรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการตัดสินใจยุติหรือดำเนินการต่อไป
การประเมินเพื่อการรับรอง (The accreditation) เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับรองเกี่ยวกับกระบวนการของการพัฒนาวิชาชีพในการจัดการศึกษาหรือโปรแกรมการฝึกอบรม
การประเมินหลักสูตร ก่อน ระหว่าง และหลังการนำหลักสูตรไปใช้
1. การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้ เมื่อนักพัฒนาหลักสูตรพัฒนาหลักสูตรเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการตรวจสอบทบทวนว่าหลักสูตรมีคุณค่าหรือตอบสนองความต้องการจำเป็นของผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หลักการและเหตุผลหรือความเป็นมาและความสำคัญของหลักสูตรเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นของผู้เรียนกลุ่มเป้าหมาย มีเหตุผลเพียงพอที่จะต้องทำหลักสูตร สรุปได้ว่า หลักสูตรมีคุณค่าเมื่อหลักสูตรนั้นตอบสนองความต้องการจำเป็นของผู้เรียนในกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นพิจารณาถึงประเด็นที่สืบเนื่องคือ มีความพร้อมในการนำหลักสูตรไปใช้หรือไม่ ด้วยประเมินเอกสารหลักสูตร สื่อ และอุปกรณ์ที่จำเป็นที่จะต้องใช้ประกอบการเรียนการสอน วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554 : 122-125)
1) กำหนดจุดมุ่งหมายการประเมินหลักสูตร
2) วางแผนดำเนินการประเมิน
3) ทดลองใช้หลักสูตรฉบับร่าง
4) ประเมินผลจากการทดลองใช้ และนำผลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงหลักสูตรก่อนนำไปใช้
จริง
2. การประเมินหลักสูตรระหว่างดำเนินการใช้หลักสูตร
การประเมินการนำไปใช้ให้ความสำคัญกับระบบบริหารจัดการหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอนโดยศึกษาข้อมูลจากการวางแผนการประเมินก่อนการใช้หลักสูตร เพื่อจัดระบบบริหารหลักสูตรรวมถึงการนิเทศกำกับตาม (งานบริหารบุคคล-ฝึกอบรมก่อน/ระหว่างประจำการ งานบริหารงบประมาณ-สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้หลักสูตร) และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร การออกแบบการเรียนการสอน การเขียนแผนจัดการเรียนการสอน/จัดการเรียนรู้ กลวิธีการสอน/กลยุทธ์ในการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ มีเครื่องมือวัดความก้าวหน้าของผู้เรียน (ก่อนเรียน-ระหว่างเรียน-หลังเรียน) และเครื่องมือสังเกตการสอน วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554 : 125-128) เสนอแนวคิดการประเมินไว้สามประเด็น คือ
1) การประเมินระบบบริหารและจัดการหลักสูตร
2) การประเมินการจัดกระบวนการเรียนการสอน
3)การประเมินระบบบริหารและวิธีการนิเทศกำกับดูแล
3. การประเมินหลักสูตรหลังนำหลักสูตรไปใช้ เป็นการประเมินระบบหลักสูตร ในทุกๆองค์ประกอบของหลักสูตรอย่างละเอียด มีความเกี่ยวข้องกับหลักสูตรด้วย เช่น ทรัพยากรที่ต้องใช้ ความสัมพันธ์ของระบบหลักสูตร กับระบบบริหาร โรงเรียน ระบบการจัดการเรียนการสอน และระบบการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการประเมินว่าหลักสูตรดีจริง สามารถนำไปใช้ได้จริง มีข้อผิดพลาดที่ใด จะต้องแก้ไขอย่างไร ถือเป็นการประเมินที่สมบูรณ์และครอบคลุมมากที่สุด
สรุปขั้นตอนการประเมินหลักสูตรและจุดมุ่งหมายในการประเมินได้ดังแผนภาพดังนี้
แบบจำลองในการประเมินหลักสูตร
แบบจำลองการประเมินแบบ CIPP
สตัฟเฟิลบีม (Daniel Stufflebeam. 1985) ได้เสนอแนวคิดในการประเมินโครงการ เพื่อการตัดสินใจยุติหรือดำเนินการโครงการต่อไป แนวคิดนี้รู้จักกันในชื่อ CIPP Model เป็นกระบวนการจำแนก รวบรวม และเสนอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคุณค่าและประโยชน์ของความมุ่งหมาย การออกแบบหรือการวางแผนงาน ดำเนินงานและแผนโครงการใดโครงการหนึ่งเพื่อเป็นแนวในการตัดสินใจของผู้รับผิดชอบ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น สตัฟเฟิลบีม กำหนดประเด็นการประเมินออกเป็น
1. การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation : C) เป็นการประเมินโครงการ มีประเด็นการพิจารณา หลักการและเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการ การกำนดประเด็นปัญหา และความเหมาะสมของเป้าหมายโครงการ
2. การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation : I ) เป็นการประเมินโครงการ มีประเด็นการพิจารณา การเลือกแผนโครงการ โดยคำนึงถึงทรัพยากรที่จะใช้ เช่น งบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เวลา รวมทั้งเทคโนโลยีและแผนการดำเนินงาน เป็นต้น
3. การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation : P ) เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ เพื่อหาข้อบกพร่องของการดำเนินโครงการ ที่จะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุง ให้การดำเนินการช่วงต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการตรวจสอบกิจกรรม เวลา ทรัพยากรที่ใช้ในโครงการ ภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการ โดยมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกขั้นตอน การประเมินกระบวนการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการค้นหาจุดเด่น หรือจุดแข็ง (Strengths) และจุดด้อย (Weakness) ของนโยบาย/แผนงาน/โครงการ
4. การประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P ) เป็นการประเมินเพื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่เกิดขี้นกับวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือความต้องการ/ เป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งการพิจารณาในประเด็นของการยุบ เลิก ขยาย หรือปรับเปลี่ยนโครงการและการประเมินผล เรื่องผลกระทบ (Impact) และผลลัพธ์( Outcomes ) ของนโยบาย / แผนงาน / โครงการ
ที่มา: สุเทพ อ่วมเจริญ. (2557). การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฎีและการปฏิบัติ. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น