วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร และการใช้หลักสูตรสถานศึกษา





ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร



ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรต้องมีการร่วมมือกันหลายฝ่ายเพื่อให้ผลงานออกมาตรงเป้าหมาย  ได้แก่
1. ผู้บริหารสถานศึกษา
           ผู้บริหารสถานศึกษาที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา เข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารอย่างถ่องแท้และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแบบต่อเนื่อง จะช่วยให้การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาประสบผลสำเร็จได้อย่างมีคุณภาพ ผู้บริหารสถานศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการสั่งการมาเป็นผู้ร่วม คือ ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติ ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรมีบทบาทดังนี้
1.1   จัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาเพื่อใช้ในการดำเนินการจัดการศึกษา
1.2   เป็นผู้นำในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโดยร่วมประสานกับบุคลากรทุกฝ่าย เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ตลอดจนสาระตามหลักสูตรสถานศึกษา
1.3   ประชาสัมพันธ์หลักสูตรสถานศึกษา
1.4   สนับสนุนให้บุคลากรทุกฝ่ายของสถานศึกษามีความรู้และความสามารถในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
1.5   มีการนิเทศภายใน เพื่อนิเทศ กำกับ ติดตามการใช้หลักสูตรสถานศึกษาอย่างมีระบบ
1.6   จัดให้มีการประเมินผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษาเพื่อปรับปรุง พัฒนาสาระของหลักสูตรสถานศึกษาให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ชุมชนและท้องถิ่น


2. ครูผู้สอน
           ครูผู้สอนมีบทบาทโดยตรงในการร่วมพัฒนาหลักสูตร จัดการเรียนรู้ ครูในยุคปฏิรูปการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้สอน เป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการชี้แนวทางการนำความรู้จากแหล่งต่างๆ มาใช้ประโยชน์ กล่าวคือ ทำให้ผู้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงแหล่งข้อมูล มีทักษะในการใช้สื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการสืบค้นข้อมูลมาใช้ได้สะดวก วิธีการที่ครูสามารถทำได้ในฐานะผู้เอื้ออำนวยความสะดวกที่ดี เช่น ให้โอกาสผู้เรียนเข้าไปใช้บริการสืบค้นข้อมูลจากห้องสมุดของโรงเรียน บอกแหล่งที่มาของข้อมูลให้ผู้เรียนที่สนใจสามารถสืบค้นได้จากซีดีรอม หรือจากโฮมเพจในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
           นอกจากนี้ ครูยังต้องปรับบทบาทจากการเป็นผู้ป้อนข้อมูล เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา โดยครูจะต้องตระหนักเสมอว่า ตนเองไม่ใช่ผู้กำหนดความรู้ แต่เป็นผู้สอนแก่นความรู้ในวิชาที่สอน และแนะวิธีการคิด ให้กรอบในการวิเคราะห์เนื้อหาวิชาการ แนะนำการพิจารณาข้อมูลที่จะเลือกนำมาใช้ แนะนำเรื่อง ทั่วๆ ไปที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของผู้เรียนด้วย เช่น ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การพัฒนาบุคลิกภาพ มารยาท การป้องกันตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ เป็นต้น
           ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำ ปรึกษาแก่นักเรียนและเป็นผู้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ก็ต่อเมื่อครูเป็นผู้ที่เรียนรู้มาก่อน นั่นหมายความว่า ครูจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เป็นคนช่างสังเกตและคิดแตกฉานกับข้อมูลและความรู้ที่ผ่านเข้ามาในสมองด้วยการตั้งคำถามและหาทางพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
           ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ครูไม่เพียงแต่จะมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้เท่านั้น แต่ครูยังต้องมีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ดังต่อไปนี้ (กรมวิชาการ  2543 :  16)
2.1   ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจนเข้าใจกระจ่าง
2.2   ศึกษาหลักการ วิธีการพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษา
2.3   ร่วมวางแผน และร่วมพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษา
2.4   ตรวจสอบความสอดคล้องสัมพันธ์กันของสาระที่จัดทำขึ้นตามสภาพปัญหา/ความต้องการของชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น กับมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มวิชาและมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.5 วางแผนการจัดการเรียนการสอนตามขอบข่ายเนื้อหาสาระ มาตรฐาน สัดส่วนของเวลา และหน่วยการเรียนรู้
2.6 นำหลักสูตรไปปฏิบัติให้เกิดผลในห้องเรียน โดยเลือกใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องกับธรรมชาติของสาระการเรียนรู้และเหมาะสมกับผู้เรียน
2.7 วางแผนและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้ข้อมูลที่แสดงความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละช่วงนั้น และนำผลการประเมินมาพัฒนาผู้เรียนต่อไป
2.8 ร่วมประเมินผลการใช้หลักสูตรกับสถานศึกษา


3. ผู้เรียน
           เนื่องจากผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการกำหนดจุดหมายของการพัฒนาหลักสูตร หลักสูตรทุกหลักสูตรพัฒนาขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนโดยตรง ผู้เรียนจึงควรมีส่วนแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียนให้ผู้รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรได้ทราบ และเนื่องจากผู้เรียนเป็นผลผลิตของการจัดการศึกษาโดยตรง ผู้เรียนจะมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์คือเป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุขได้ ผู้เรียนจะต้องปรับปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนจากการเป็นผู้รับมาเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความสามารถของตนเอง
           บทบาทหน้าที่ของผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีดังนี้
3.1   มีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองและครู วางแผนการเรียนรู้ของตนเองตามความถนัด ความสนใจและความสามารถของตนเอง
3.2   มีความรับผิดชอบ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และบริหารจัดการเรียนรู้ของตนเองให้มีคุณภาพ
3.3   ปฏิบัติตนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ รู้วิธีแสวงหาความรู้ พร้อมทั้งสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
3.4   มีการประเมินและพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
3.5   มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครูและเพื่อนโดยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน


4. ผู้ปกครอง
           การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้เปิดโอกาสให้บิดามารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายร่วมมือกับสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ (มาตรา 24) ฉะนั้น บิดามารดาและผู้ปกครองจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดในการฝากบุตรหลานไว้ในความดูแลของครูมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยผู้ปกครองควรจะมีบทบาท ดังนี้
4.1   กำหนดแผนการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกับครูและผู้เรียน
4.2   มีส่วนร่วมในการกำหนดสาระของหลักสูตรสถานศึกษา และกำหนดแผนพัฒนาสถานศึกษาหรือธรรมนูญสถานศึกษา
4.3   ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
4.4   อบรมเลี้ยงดู เอาใจใส่ ให้ความรักความอบอุ่น ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ ของผู้เรียน
4.5   สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาตามความเหมาะสม
4.6   ร่วมมือกับครูและผู้เกี่ยวข้อง ประสานงาน ป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของผู้เรียน
4.7   พัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อนำครอบครัวไปสู่สถาบันแห่งการเรียนรู้
4.8   มีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนและการประเมินการจัดการศึกษาของสถานศึกษา


5. ชุมชน
           พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรและบริหารจัดการให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่กลมกลืนกับท้องถิ่น และร่วมกับสถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยมีบทบาทดังนี้
5.1   มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาหรือธรรมนูญของสถานศึกษา
5.2   มีส่วนร่วมในการกำหนดสาระของหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสังคม
5.3   เป็นแหล่งการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากสถานการณ์จริง
5.4   ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของสถานศึกษา
5.5   มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา


การมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
           การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี จะต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานจากบุคลากรทุกฝ่าย ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน บิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลหรือหน่วยงานในชุมชน ได้แก่ องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น
           พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในลักษณะต่าง ๆ หลายลักษณะ โดยถือว่าการจัดการศึกษาเป็นภาระหน้าที่สำหรับทุกคน การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือบุคลากรทุกฝ่ายอาจดำเนินการได้หลายทาง ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมเป็นกรรมการ
ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการศึกษา ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน เพราะการเป็นกรรมการไม่ใช่เรื่องของอภิสิทธิ์ส่วนตัว แต่เป็นภาระเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรรมการมีหน้าที่กำกับ ดูแล ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน
ดังนั้น กรรมการจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอน การบริหารและการจัดการศึกษา ระบบการประกันคุณภาพ การจัดทำหลักสูตร การประเมินคุณภาพการศึกษา การระดมทรัพยากรการเงินและบุคคลเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเป็นกรรมการได้เข้าใจบทบาทหน้าที่อย่างจริงจัง สถานศึกษาควรจัดทำคู่มือการเป็นกรรมการและนำเสนอผ่านสื่อ การปฐมนิเทศ หรือการฝึกอบรมสำหรับกรรมการที่ยังขาดประสบการณ์ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกรรมการด้วย
2. การร่วมจัดการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 57 กำหนดให้หน่วยงานการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาและยกย่องเชิดชูผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา
3. การร่วมสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่นจะร่วมสนับสนุนการศึกษาได้โดยร่วมกันให้ความรู้หรือประสบการณ์ในฐานะทรัพยากรบุคคลหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือสนับสนุนโดยการบริจาคทรัพย์สิน หรือทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา รวมทั้งการมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็นด้วย
4. การร่วมกำกับดูแล
เนื่องจากการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องทำหน้าที่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับจรรยาบรรณและมาตรฐานของวิชาชีพ สถานศึกษาต้องมีระบบประกันคุณภาพ เป็นต้น ดังนั้นประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมเรียกร้องคุณภาพทางการศึกษาที่เป็นมาตรฐาน ทักท้วง ตักเตือน หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมประเมินคุณภาพของบุคคลและสถานศึกษา รวมทั้งร่วมยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมด้วย
           หากบุคลากรในสถานศึกษาทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้บุคคลและหน่วยงานนอกสถานศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งในฐานะกรรมการสถานศึกษา วิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้าน หรือในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาและฐานะผู้ประเมินคุณภาพของสถานศึกษาแล้ว ย่อมเชื่อมั่นได้ว่าสถานศึกษานั้นจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา


**************************************************************



สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร


ปัญหาการพัฒนาหลักสูตรไทย
1. ปัญหาการขาดครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
2. ปัญหาการไม่ยอมรับและไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทการสอนของครู
3. ปัญหาการจัดอบรมครู
4. ศูนย์การพัฒนาหลักสูตร ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน
5. ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ
6. ผู้บริหารต่างๆ ไม่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
7. ปัญหาการขาดแคลนเอกสาร


ปัญหาหลักสูตรในการศึกษาปฐมวัย
การเรียนการสอนจะเน้นสอนเนื้อหาวิชาตามหลักสูตรมากกว่าการพัฒนาการเด็ก ทำให้เด็กเกิดความเครียด
-  การไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักสูตรอย่างเต็มที่
-  แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรยังขาดความเป็นเอกภาพ


ปัญหาหลักสูตรในการศึกษาขั้นพื้นฐาน
-  การจัดโครงสร้างหลักสูตรใหม่ทำให้ครูต้องสอนเนื้อหาหนักมากขึ้น และผู้เรียนต้องเรียนหนักมากขึ้น
-  สถานศึกษาจัดทำเองไม่มีความชัดเจกรมวิชาการและกรมเจ้าสังกัดมีจุดเน้นที่ไม่ตรงกัน
-  มีเสียงสะท้อนว่านโยบายการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ที่ให้โรงเรียนจัดทำเองไม่มีความชัดเจน
-  ทำให้ครูเกิดความสับสน


ปัญหาหลักสูตรการอาชีวศึกษา
ผู้เข้าเรียนในการอาชีวศึกษาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรหลักสูตรก่อนถึงระดับ  ปวช.  คือระดับมัธยมต้น หรือการศึกษาผู้ใหญ่เป็นการปูพื้นฐานความรู้ระดับต่ำ เช่น  อ่าน  สะกดคำไม่ได้  ขาดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ  เมื่อมาเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาจึงเกิดปัญหา แม้ครูจะเตรียมการสอนดีอย่างไร ผู้เรียนไม่สามารถต่อยอดความรู้ได้ เพราะพื้นฐานความรู้ไม่ดีเพียงพอ


การจัดหลักสูตรสำหรับผู้ด้อยโอกาส

-  ยังไม่เหมาะสม  เพราะหลักสูตรยังยึดวิธีการแบบเก่าๆไม่สนองความต้องการและความสนใจและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

*****************************************************




การใช้หลักสูตรสถานศึกษา


การนำหลักสูตรไปใช้ เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาหลักสูตร เพราะเป็นการนำอุดมการณ์ จุดหมายของหลักสูตร  เนื้อหาวิชา และประสบการณ์การเรียนรู้ที่กลั่นกรองอย่างดีแล้วไปสู่ผู้เรียน  ขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้ มีความสำคัญยิ่งกว่าขั้นตอนตอนใดๆทั้งหมด  เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของหลักสูตร ถึงแม้หลักสูตรจะสร้างไว้ดีเพียงใดก็ตาม  ยังไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าหากว่าการนำหลักสูตรไปใช้ดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ดีเพียงพอ  ความล้มเหลวของหลักสูตรก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะฉะนั้นการนำหลักสูตรไปใช้ จึงมีความสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรไปใช้ จะต้องทำความเข้าใจกับวิธีการขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดตามความมุ่งหมายทุกประการ


ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้
การนำหลักสูตรไปใช้ เป็นขั้นตอนที่นำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ ความหมายของคำว่า การนำหลักสูตรไปใช้มีแตกต่างกันออกไป  นักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมาย      คำนิยามของคำว่าการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้
โบแชมป์ (Beauchamp,1975:164)   ได้ให้ความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ว่า  การนำหลักสูตรไปใช้  หมายถึง  การนำหลักสูตรไปปฏิบัติ  โดยการะบวนการที่สำคัญที่สุด คือการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน   การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ครูได้มีพัฒนาการเรียนการสอน
สันติ    ธรรมบำรุง (2527.120)  กล่าวว่า  การนำหลักหลักสูตรไปใช้หมายถึงการที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูนำโครงการของหลักสูตรที่เป็นรูปเล่มนั้นไปปฏิบัติให้บังเกิดผล  รวมถึงการบริหารงานด้านวิชาการของโรงเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูและนักเรียนสามารถสอนและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สงัด      อุทรานันท์ (2535.260)  ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้ว่า เป็นขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน  ได้แก่การจัดเอกสารประกอบหลักสูตร  การเตรียมบุคลากร  การบริหารและบริการหลักสูตร  และการนิเทศการใช้หลักสูตร
ธำรง บัวศรี (2504.165) กล่าวว่า การนำหลักสูตรไปใช้  หมายถึงกระบวนการเรียนการสอนสำหรับสอนเป็นประจำทุกๆวัน
จากความหมายของการนำหลักสูตรไปใช้ ตามที่นักการศึกษาได้ให้ไว้ข้างต้น  พอสรุปได้ว่า  การนำหลักสูตรไปใช้  หมายถึง การดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นดำเนินไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นับแต่การเตรียมบุคลากร อาคาร สถานที่  วัสดุอุปกรณ์  สภาพแวดล้อม  และการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน


แนวคิดเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้
ถ้าเรายอมรับว่าการนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้หลักสูตร เกิดผลต่อการใช้อย่างแท้จริงแล้ว การนำหลักสูตรไปใช้ก็ควรจะเป็นวิธีการปฏิบัติการที่มีหลักเกณฑ์ และมีกระบวนการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ พอที่จะมั่นใจได้ว่า  หลักสูตรที่ได้สร้างขึ้นนั้น จะมีโอกาสนำไปปฏิบัติจริงๆอย่างแน่นอน  นักการศึกษาต่างก็ให้ทัศนะซึ่งเป็นแนวคิดในการนำหลักสูตรไปใช้ดังนี้
โบแชมป์ (Beauchamp,1975.164-169)  กล่าวว่า  สิ่งแรกที่ควรทำคือ  การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน  ครูผู้นำหลักสูตรไปใช้มีหน้าที่แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน  โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนากลวิธีการสอน   สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการนำหลักสูตรไปใช้ให้เห็นผลตามเป้าหมาย คือ ครูผู้สอนควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร ผู้บริหาร ครูใหญ่ต้องเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ
ธำรง บัวศรี (2504.165-195)  ได้สรุปชี้ให้เห็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการนำหลักสูตรไปใช้ไว้ว่า ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
โครงการสอน  เช่น  การวางโครงการสอนแบบหน่วย( Unit Organization of Instruction, Teaching Unit)  ประเภทของหน่วยการสอนมี 2 ประเภท คือ หน่วยรายวิชา (Subject Matter Unit) และหน่วยประสบการณ์  (Experience Unit)
หน่วยวิทยาการ (Resource Unit) เป็นแหล่งให้ความรู้แก่ครู  เช่นเอกสารคู่มือ  และแนวการปฏิบัติต่างๆ
องค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยในการสอน  เช่นสถานที่และเครื่องมือเครื่องใช้  อุปกรณ์การเรียนการสอน  วิธีการสอน และวัดผลการศึกษา  กิจกรรมร่วมหลักสูตร  การแนะแนวและการจัดและบริหารโรงเรียน  เป็นต้น


การนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย  ตั้งแต่ผู้บริหารระดับกระทรวง  กรม  กอง  ผู้บริหารระดับโรงเรียน   ครูผู้สอน  ศึกษานิเทศก์ และบุคคลอื่นๆขอบเขตและงานของการนำหลักสูตรไปใช้เป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง เพราะฉะนั้นการนำหลักสูตรไปใช้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง


หลักการที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้
หลักการสำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ได้ดังนี้
  1. มีการวางแผนและเตรียมการในการนำหลักสูตรไปใช้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะได้ศึกษาวิเคราะห์  ทำความเข้าใจหลักสูตรที่จะนำไปใช้ให้มีความเข้าใจตรงกันเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทำนองเดียวกันและสอดคล้องต่อเนื่องกัน


2. มีคณะบุคคลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะต้องทำหน้าที่ประสานงานกันเป็นอย่างดี ในแต่ละขั้นตอนในการนำหลักสูตรไปใช้
3. ดำเนินการอย่างเป็นระบบเป็นไปตามขั้นตอนที่วางแผนและเตรียมการไว้การนำหลักสูตรไปใช้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้การนำหลักสูตรไปใช้ประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยต่างๆ ได้แก่ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์  เอกสารหลักสูตรต่าง  ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ที่จะเป็นแหล่งให้ความรู้ประสบการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนได้เมื่อได้รับการร้องขอ
4. ครูเป็นบุคลากรที่สำคัญในการนำหลักสูตรไปใช้ ดังนั้นครูจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่และจริงจัง ตั้งแต่การอบรมความรู้  ความเข้าใจทักษะและเจตคติเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรอย่างเข้มข้น
5. การนำหลักสูตรไปใช้ควรจัดตั้งให้มีหน่วยงานที่มีผู้ชำนาญการพิเศษ  เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาครูโดยการทำหน้าที่นิเทศ ติดตามผลการนำหลักสูตรไปใช้ และควรปฏิบัติงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิด
6. หน่วยงานและบุคลากรในฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นต้องปฏิบัติงานในบทบาทหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่และเต็มความ สามารถ
7. การนำหลักสูตรไปใช้สำหรับผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ทุกหน่วยงาน จะต้องมีติดตามและประเมินผลเป็นระยะๆ  เพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ มาประเมินวิเคราะห์  เพื่อพัฒนาทั้งในแง่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และการวางแนวทางในการนำหลักสูตรไปใช้  ให้มีประสิทธิภาพ ดียิ่งขึ้น


กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้
1.การแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน  คือ  การตีความหมายและกำหนดรายละเอียดของหลักสูตรโดยจะดำเนินการในรูปของเอกสารประกอบหลักสูตร และวัสดุอุปกรณ์การสอน เช่นโครงการสอน ประมวลการสอน คู่มือครูเป็นต้น
2.การจัดปัจจัยและสภาพต่างๆภายในโรงเรียนเพื่อให้หลักสูตรบรรลุเป้าหมาย ผู้บริหารโรงเรียนควรสำรวจปัจจัยและสภาพต่างๆของโรงเรียนว่า  เหมาะสมกับสภาพการนำหลักสูตรมาปฏิบัติหรือไม่
3.การสอนซึ่งเป็นหน้าที่ของครูประจำการถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการนำหลักสูตรไปใช้ ครูต้องสอนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร เลือกวิธีสอนให้เหมาะสม โดยผู้บริหารคอยให้ความสะดวกให้คำแนะนำและให้กำลังใจ

*************************************************

ที่มา
https://www.gotoknow.org/posts/543276

https://www.l3nr.org/posts/413485
https://sites.google.com/site/orathaieducation/hlaksutr-laea-kar-cadkar-reiyn-ru/kar-phathna-hlaksutr-sthan-suksa


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น