วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา จิตวิทยา สังคม



พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา จิตวิทยา สังคม


การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องอาศัยพื้นฐานในการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นจริงในการพัฒนาหลักสูตรนั้นต้องประกอบไปด้วยพื้นฐานอย่างน้อย 3 ด้าน คือ พื้นฐานด้านปรัชญา พื้นฐานด้านจิตวิทยา พื้นฐานด้านสังคม ซึ่งในแต่ละพื้นฐานมีความสำคัญดังต่อไปนี้

พื้นฐานด้านปรัชญา
เป้าหมายหลักสูตรเน้นด้านความรู้
กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา 2 ปรัชญา คือ ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) โดยมีความเชื่อว่า ระบบการศึกษาควรเน้นหนักในการศึกษาความรู้และวัตฒนธรรม เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรม และ ปรัชญานิรันดรนิยม (Perenialism) ที่มีความเชื่อว่า  ระบบการศึกษาควรเน้นการจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ความคิดที่เป็นสัจธรรม มีคุณธรรม และมีเหตุผล
เป้าหมายหลักสูตรเน้นด้านผู้เรียน
กำกับด้วยปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) โดยมีความเชื่อว่าการศึกษามีความสำคัญในแง่ของวิธีการที่นำมาใช้ คือ กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาในบทเรียน และนำเอากระบวนการแก้ปัญหาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
เป้าหมายหลักสูตรเน้นด้านสังคม
กำกับด้วยปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) โดยมีแนวคิดว่า  ผู้เรียนมิได้เรียนเพื่อมุ่งพัฒนาตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสังคมให้สังคมเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้นปรัชญาปฏิรูปนิยม จึงมีความเชื่อว่า การศึกษาควรเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการปฏิรูปสังคม

พื้นฐานด้านจิตวิทยา
ในการจัดทำหลักสูตรจำเป็นต้อง ศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางจิตวิทยา ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนว่าผู้เรียนเป็นใคร มีความต้องการและความสนใจอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนักพัฒนาหลักสูตรจะนำมาใช้เพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายหลักสูตร กำหนดเนื้อหาวิชา และการจัดการเรียนรู้ จิตวิทยาการเรียนรู้จะถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้ความรู้ในเรื่องธรรมชาติการเรียนรู้ และปัจจัยทางวิทยาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดของนักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเรียนรู้มี 4 กลุ่ม ใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่ 1) ทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม 2) ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม 3) ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษย์นิยม 4) ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มสร้างสรรค์นิยม
พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านจิตวิทยา นอกจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการเรียนรู้แล้ว ในการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านผู้เรียน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
โดนัล คลาก (Donald Clark, 2004:1) กล่าวว่าขั้นตอนวิเคราะห์ ข้อมูลประชากรกลุ่มเป้าหมายมีความจำเป็นและมีประโยชน์มาก เมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเสนอโปรแกรมการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่างๆ ดังนี้
  • จำนวนผู้เรียน
  • ที่ตั้งของโรงเรียน
  • การศึกษาและประสบการณ์ของผู้เรียน
  • ภูมิหลังของผู้เรียน
  • แรงจูงใจของผู้เรียน
  • ระดับความสามารถในการปฎิบัติงานที่ต้องการ กับระดับทักษะในปัจจุบัน
  • ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียน สิ่งเร้าของผู้เรียน
  • ลักษณะทางกานภาพหรือความสามารถทางสติปัญญาของผู้เรียน
  • ความสนใจพิเศษหรืออคติของผู้เรียน

พื้นฐานด้านสังคม
ข้อมูลพื้นฐานด้านสังคมที่สำคัญที่ควรศึกษาวิเคราะห์เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพสังคม แนวคิดของพัฒนาการทางสังคม 4 ยุค คือ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม ยุคสังคมข่าวสารข้อมูล ยุคข้อมูลฐานความรู้ และยุคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำหลักสูตรว่าจะมีแนวปฎิบัติในการจัดทำหลักสูตรหรือพัฒนาหลักสูตรอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับผู้เรียนในยุคสมัยต่างๆ ประการสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสังคมมุ่งการสร้างเครือข่ายหรือความร่วมมือของชุมชน ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการจัดทำหลักสูตร การกำหนดวิชาเรียนต่างๆ เพราะบางราบวิชาสภาพชุมชนไม่ส่งเสริมเท่าที่ควร ก็อาจเป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน ชุมชนและสังคมที่โรงเรียนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการบริหารและจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: สุเทพ อ่วมเจริญ. (2557). การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฎีและการปฏิบัติ. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น